เพื่อที่ผู้อ่านทุกท่านจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่า “Chain Reorganization” หรือ “การปรับโครงสร้างของเชน” คืออะไร ก่อนอื่น เราอาจจะต้องอธิบายเรื่องพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชนกันเสียก่อน สิ่งสำคัญที่เราจะต้องทราบก็คือ “บล็อกเชน” เป็น Digital Ledger (บัญชีแยกประเภทดิจิทัล) ของธุรกรรม หรือถ้าจะให้เห็นภาพได้ง่าย มันก็คือ Distributed Database (ฐานข้อมูลของแบบกระจาย) ที่ถูกดูแลโดยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เราเรียกกันว่า “Nodes” นั่นเอง
ทีนี้ เราลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่า ที่นี่ เราจะใช้บล็อกเชน Bitcoin เป็นตัวอย่างในการอธิบาย เมื่อผู้ใช้งานทำธุรกรรมใดๆ Node (โหนด) จะต้องมีการตรวจสอบถูกต้อง ซึ่งหลังจากที่มีการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ธุรกรรมจะยังคงอยู่ในสถานะ “รอดำเนินการ” จนกว่าที่ “นักขุด” (Mining Node เป็น Full Node ประเภทหนึ่ง) จะรับมันไป ซึ่งเหล่านักขุด ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ขุดด้วยตนเอง หรือ กลุ่มการขุด ก็จะต้องแข่งขันกันเพื่อยืนยันธุรกรรมที่อยู่ในสถานะ “รอดำเนินการ” เหล่านี้ เมื่อได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ธุรกรรมก็จะถูกเพิ่มเข้าไปในบล็อกเชน และบล็อกที่ได้รับการยืนยันก็จะได้รับการเผยแพร่ไปยังโหนดทั้งหมดในเครือข่าย เพื่อเป็นการยืนยันว่าบล็อกดังกล่าวมีความถูกต้อง และโหนดก็จะเพิ่มบล็อกใหม่ต่อไปยังบล็อกก่อนหน้า ก่อให้เกิดเป็น Blockchain ขึ้นมา
แล้ว Chain Reorganization หรือ การปรับโครงสร้างของเชน เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ได้อย่างไร?
โดยปกติแล้ว Chain Reorganization หรือ Reorg มักจะเกิดขึ้นกับเครือข่ายบล็อกเชนที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก หรือ มีความแออัดของเครือข่าย เช่น Bitcoin หรือ Ethereum เป็นต้น และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อโหนดบางตัวมีการสร้างบล็อกใหม่ขึ้นมาในเวลาเดียวกัน บล็อกที่เกิดขึ้นพร้อมกันเหล่านี้จะสร้างทางแยกชั่วคราว (Temporary Fork) และบังคับให้เกิดการตัดสินใจจากโหนดอื่นๆ ที่ต้องการเพิ่มบล็อกธุรกรรมใหม่ว่า พวกเขาควรจะเลือกบล็อกใด?
เมื่อเกิดการขัดแย้งขึ้นในเครือข่ายว่า บล็อกใดกันแน่ที่เป็นบล็อกแรกที่เกิดขึ้น? พวกเขาจะจัดการกับความขัดแย้งนี้ด้วยกฏ “Longest Chain” (เชนที่ยาวที่สุด) กฏนี้จะระบุให้ “เชนที่ยาวที่สุด” คือเชนที่ถูกต้อง ในทางเทคนิคแล้ว มันก็คือ Canonical Chain หรือ เชนที่ได้รับการยอมรับว่ามีผลงานมากที่สุด นั่นเอง
เมื่อโหนดเลือกบล็อกที่ถูกต้องได้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับบล็อกที่อยู่กับเชนที่ผิดพลาด? สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ บล็อกอื่นๆ บนเชนดังกล่าวจะถูกปิดใช้งาน แล้วมันก็จะกลายเป็นสิ่งที่เราเรียกกว่า “Orphan Blocks” (บล็อกกำพร้า) แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับบล็อกกำพร้าหล่ะ? เมื่อเกิดการปรับโครงสร้างของเชน (Reorg) ธุรกรรมภายในบล็อกกำพร้าจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติการทำธุรกรรมของบล็อกเชนอีกต่อไป ดังนั้น มันจะถูกมอบหมายไปยังบล็อกใหม่
สรุปง่ายๆ ก็คือ Chain Reorganization หรือ การปรับโครงสร้างของเชน คือการปิดใช้งานหรือลบบล็อกบางส่วนเพื่อให้มีที่ว่างสำหรับบล็อกใหม่ที่มีเชนที่ยาวกว่านั่นเอง นอกจากนี้ การ Reorg จะทำให้มั่นใจได้ว่า Node Operators (โหนดปฏิบัติการ) ทั้งหมดจะได้รับสำเนาของบัญชีแยกประเภทที่เหมือนกัน ซึ่งจะเป็นการรับประกันความถูกต้องของธุรกรรมที่ถูกบันทึกไว้ทั้งหมดอีกด้วย